โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดี

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มุ่งหวังให้ผู้บริหารระดับสูงเป็นเสาหลัก และเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติตาม ส่งเสริม และสื่อสารการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ มมร ให้แพร่หลายจริงจัง และเป็นรูปธรรม จึงจัดให้มีโครงสร้างที่ดีของการกำกับดูแล และกำหนดบทบาทของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน เพื่อให้มีความเข้าใจและสามารถยึดถือปฏิบัติได้ โดยแบ่งเป็น ๓ โครงสร้าง ดังนี้

๑. ผู้บริหาร หมายถึง อธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี หัวหน้าสำนักงานอธิการบดี คณบดี รองคณบดี ผู้อำนวยการ หัวหน้าภาควิชา หัวกอง หัวหน้าฝ่าย และหัวหน้าหน่วยงานทุกระดับใน มมร ซึ่งมีบทบาท ดังนี้

  • จัดให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจรรยาบรรณของบุคลากร มมร รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีให้ปฏิบัติตาม

  • กำกับดูแลการดำเนินงานของ มมร ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย วัตถุประสงค์ และระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณของบุคลากร มมร

  • ร่วมกับบุคลากร มมร กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยม (วัฒนธรรมองค์กร) ที่มมร มุ่งหวัง ให้เป็นและให้บังเกิดขึ้นจริง

  • พิจารณาและหารือเพื่อปรับปรุงและพัฒนาแผนกลยุทธ์ แผนงบประมาณ และแผนการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อบรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติงานของ มมร

  • กำหนดให้มีระเบียบปฏิบัติงานที่ชัดเจนและเหมาะสม มีระบบการควบคุมภายในที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม

  • กำกับดูแลให้มีการสื่อสารและเปิดเผยสารสนเทศในเรื่องต่าง ๆ ให้กับผู้มีส่วนได้เสียอย่างถูกต้องเหมาะสม

  • ติดตามการดำเนินงานของ มมร ให้บรรลุพันธกิจ นโยบาย วัตถุประสงค์ การปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติงาน และนโยบายที่เกี่ยวข้อง

  • กำกับดูแลให้บุคลากร มมร ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถให้เกิดศักยภาพในการปฏิบัติงานสูงสุด ให้มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างเป็นธรรม และจัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีและปลอดภัย เนื่องจากบุคลากรเป็นปัจจัยที่สาคัญที่สุดที่ มมร จะต้องส่งเสริมให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ตามศาสนสุภาษิตประจำ มมร ว่า ผู้มีความรู้ดีและความประพฤติดี คือ ผู้ประเสริฐสุดในหมู่เทพและมนุษย์ (วิชฺชาจรณสมปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเสฯ)

  • กำกับดูแลให้มีการใช้จ่ายงบประมาณและทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน เพื่อผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย พระพุทธศาสนา ประเทศชาติและประชาชน

๒. คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หมายถึง กลุ่มบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่จำเป็นต้องทำร่วมกันในเชิงบูรณาการภายใน มมร ซึ่งมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • เป็นบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดี

  • เป็นบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามสายการปฏิบัติงาน

บทบาทหน้าที่

  • มีอำนาจหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย และปฏิบัติงาน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของ มมร และผู้มีส่วนได้เสีย

  • ประธานต้องมีภาวะผู้นำ สามารถกำกับดูแลการประชุม ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนด และสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาข้อขัดแย้งในที่ประชุมได้อย่างประณีประนอม

  • เลขานุการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแล และให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติ และรับผิดชอบการจัดประชุมคณะกรรมการ รวมถึงช่วยคณะกรรมการดูแลให้มีการปฏิบัติตามมติของที่ประชุม และการรักษาเอกสารข้อมูล

  • กรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน มีหน้าที่เสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อที่ประชุมได้อย่างอิสระ โดยไม่อยู่ภายใต้การกำกับของผู้บังคับบัญชา และมีความใส่ใจในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ตรงต่อเวลา อุทิศเวลาเข้าร่วมประชุมได้ไม่ต่ากว่าร้อยละ ๘๐ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและหน่วยงาน

๓. บุคลากร หมายถึง บุคลากรของ มมร ทั้งอัตราประจำและอัตราจ้าง ซึ่งควรประพฤติปฏิบัติตนบนพื้นฐาน อุดมการณ์ มมร : ระเบียบ สามัคคี บำเพ็ญประโยชน์ ดังต่อไปนี้

  • ซื่อสัตย์ และมีความรับผิดชอบ หมายถึง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตรงไปตรงมา มีหลักธรรม แยกเรื่องส่วนตัวออกจากหน้าที่การงาน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ต่อประชาชน ต่อผลการปฏิบัติงาน ต่อองค์กร และต่อการพัฒนาปรับปรุงระบบงานของมหาวิทยาลัย

  • มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน หมายถึง ทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด ทำงานให้เกิดผลดีแก่หน่วยงานและส่วนรวม ใช้ทรัพยากรของทางราชการให้คุ้มค่า เสมือนหนึ่งการใช้ทรัพยากรของตนเอง เน้นการทำงานโดยยึดผลลัพธ์เป็นหลัก

  • พร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง พัฒนาความสามารถให้เกิดศักยภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นคนดีและคนเก่ง

  • มีจิตใจที่จะให้บริการอย่างเสมอภาค ปฏิบัติต่อผู้มารับบริการด้วยความมีน้ำใจ เมตตา เอื้อเฟื้อ

  • ปฏิบัติงานโดยยึดหลักความถูกต้องดีงาม ชอบธรรม เสียสละ อดทน ที่ตั้งอยู่บนหลักวิชาและจรรยาวิชาชีพ

การพัฒนาและการสนับสนุนการปฏิบัติงาน

  • การคุ้มครองการปฏิบัติงาน ผู้บริหารจะคุ้มครองการปฏิบัติงานให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานอย่างถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ ตลอดจนสนับสนุนคนดีและคนเก่งให้ได้รับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว และเป็นธรรม

  • การประเมินผลการปฏิบัติงาน มมร มีการประเมินผลการปฏิบัติงานโดยผู้บริหารระดับต้น และในรูปคณะกรรมการฯ ผลการปฏิบัติงานจะนำมาพิจารณาสนับสนุนความดีความชอบประจำปี และประกอบการพิจารณาความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างเป็นธรรม

  • การฝึกอบรม มมร จะต้องส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริหารและบุคลากรให้มีโอกาสในการเข้าฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ

วิธีการ

ในการดำเนินงานของ มมร ผู้บริหารและบุคลากร ยึดถือวิธีการที่เป็นรูปธรรม และตรวจสอบได้ ๔ ประการ คือ

  • มีความถูกต้อง ตามกฎ กติกาที่กำหนดไว้ ตรงตามบรรทัดฐานที่วางไว้หรือสมควรจะเป็นและไม่บิดเบือน

  • มีความเหมาะสม มีความพอสมควรแก่กรณี เป็นที่ยอมรับได้

  • มีความโปร่งใส มีเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ มีหลักฐานอ้างอิง หรือมีลักษณะ 3Cs คือ Clear (ความชัดเจน) Consistent (ใช้หลักเนกณฑ์เดียวกัน หรือปฏิบัติอย่างสมำเสมอ หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงสามารถมีคำอธิบาย ชี้แจงได้อย่างชัดเจน) และ Comparable (มีการดำเนินการอยู่บนพื้นฐานที่เปรียบเทียบเรื่องเดียวกันได้เสมอ สามารถตรวจสอบชี้แจงได้เสมอ)

  • มีความยุติธรรม คือ มีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ตามระบบคุณธรรม