การกำกับดูแลกิจการที่ดี

การกำกับดูแลกิจการที่ดี มมร 

ความหมาย
การกำกับดูแลกิจการที่ดี คือ การจัดให้มีโครงสร้างที่ดีของการจัดการและการดำเนินกิจการ รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริหารและบุคลากร เพื่อสร้างความสามารถในการดำเนินงานให้เจริญเติบโต และเพื่อผลประโยช์นของประเทศชาติและประชาชน

ความสำคัญ
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ได้ตระหนักถึงภารกิจในการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ทั่วไป ซึ่งรวมถึงภารกิจด้านวิจัย บริการวิชาการสังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จึงได้ให้ความสาคัญกับการบริหารและการดำเนินการที่ โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ สามารถตอบสนองผู้รับบริการและประชาชนให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องมีหลักการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐาน จึงได้จัดทำกรอบการกับกำดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) ขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยให้บรรลุผลสำเร็จ ให้เป็นองค์กรศีลธรรมอย่างยั่งยืน

หลักการ : การกำกับดูแลกิจการที่ดีของ มมร
กำหนดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีไว้ ๖ ประการ เป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสร้างผลงานที่ดีในระยะยาว และให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของบุคลากร มมร ที่ต้องถือปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้

๑. ความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและการกระทำของตนเอง สามารถชี้แจงและอธิบายได้ (Accountability) หมายถึง บุคลากร มมร ต้องคอยเอาใจใส่ ระลึก และปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ รัดกุม และยอมรับผลจากการกระทำต่าง ๆ อย่างกล้าหาญ รวมทั้งยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเสมอ

๒. ความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ (Responsibility) หมายถึง บุคลากร มมร ต้องมุ่งมั่นและทุ่มเทในการดำเนินงานอย่างเต็มความสามารถให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งต้องเรียนรู้ เพิ่มขีดความสามารถอยู่เสมอ

๓. ความยุติธรรมและซื่อสัตย์ (Fairness and Integrity) หมายถึง บุคลากร มมร ต้องปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน ยึดถือระบบคุณธรรม สามารถไว้ใจได้ และไม่หลอกลวง

๔. การดำเนินงานที่โปร่งใส (Transparency) หมายถึง บุคลากร มมร มุ่งมั่นดำเนินงานด้วยเจตณารมณ์ที่ดี มีหลักฐานอ้างอิง และสามารถตรวจสอบชี้แจงได้เสมอ

๕. การสร้างคุณค่าระยะยาวแก่ผู้มีส่วนได้เสีย (Creation of Long-term Value to all Stakeholders) หมายถึง บุคลากร มมร จะต้องทำงานให้เกิดคุณค่าและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ  พระพุทธศาสนา และประชาชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรศีลธรรมที่ยั่งยืน

๖. การส่งเสริมการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Promotion of Best Practices) หมายถึง บุคลากร มมร ต้องใช้วิธีการปฏิบัติงานที่ดีที่สุดและมีความถูกต้องเหมาะสมในทุกภารกิจของ มมร